ปฎิกิริยาเฉพาะที่หลังการฉีดวัคซีน

 #สำหรับบุคคลทั่วไปและบุคลากรการแพทย์ที่สนใจ

“ปฎิกิริยาเฉพาะที่หลังการฉีดวัคซีน ส่วนมากหายได้เอง หากใครมีอาการปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน ยังสามารถรับวัคซีนเข็มต่อไปได้ และไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะ”

ตามคำแนะนำของ American Academy of Dermatology คือ หากผื่นที่เกิดหลังฉีดวัคซีนเร็วภายใน 4 ชั่วโมง ให้รีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการแพ้รุนแรงได้ แต่หากผื่นเกิดขึ้นหลังจาก 4 ชม.ไปแล้ว ส่วนมากมักเป็นเพียงอาการที่ไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง

ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีการboost วัคซีนโควิดเข็มสอง เข็มสาม ให้กับประชากรทั่วโลก ทำให้มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่ต่อวัคซีนมากขึ้น บางคนมีอาการปวดบวมแดงร้อน อักเสบบริเวณที่ฉีดวัคซีน ยกแขนไม่ขึ้น แล้วอาจจะตกใจ คิดว่าแพ้รุนแรง บางคนไปซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเพราะเข้าใจว่าติดเชื้อ บางคนไม่กล้าไปฉีดเข็มต่อไปตามนัดหมาย เพราะคิดว่าอาจจะทำให้เป็นอันตรายหนักกว่าเดิม

ความจริงแล้วปฏิกิริยาที่เกิดเฉพาะที่หลังฉีดวัคซีนนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แถมบางทีถ้ารู้ว่ามันคือปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกัน อาจจะเป็นข่าวดีด้วยซ้ำ เพราะนั่นหมายถึง ระบบภูมิคุ้มกันของเราได้พยายามทำงานของมัน เพื่อจะเรียนรู้ที่จะจัดการกับเชื้อ(ซึ่งก็คือวัคซีนที่เราฉีดเข้าไปนั่นเอง)

ถ้าพูดถึงปฏิกิริยาของร่างกายต่อวัคซีน ที่เกิดขึ้นหลังการฉีดเกิน4ชม.ไปแล้ว (กลุ่มปฏิกิริยาแบบไม่เฉียบพลัน) หลักๆแบ่งตามกลไกการเกิดได้ 2 แบบ

1.Arthus reaction (type III hypersensitivity): การที่ร่างกายเรามีภูมิต่อสิ่งนั้นอยู่แล้ว เมื่อเรากระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข้าไปอีก ทำให้เกิดการจับกันระหว่างภูมิ(ที่เรามีอยู่แล้ว) กับวัคซีน แล้วเกิดการตกตะกอนของสารประกอบที่เกิดจากการจับกันของภูมิและวัคซีน ต่อมาเกิดการกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้เข้ามาบริเวณนั้น แล้วปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดเฉพาะที่ แถวๆตำแหน่งที่ฉีด ตัวอย่างภาวะนี้ เช่นที่พบหลังการฉีดวัคซีนบาดทะยักเข็มกระตุ้น ส่วนระยะเวลาที่จะเกิด มักเกิดเร็วประมาณ 6-12 ชม.หลังการฉีด


2.Delayed type hypersensitivity (type IV hypersensitivity): วัคซีนเข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ โดยผ่านระบบภูมิคนละส่วนกับปฏิกิริยา Arthus reaction โดยเซลล์ด่านหน้าที่พบเจอวัคซีนที่เราฉีดเข้าไป นำเอาวัคซีนไปย่อยได้เป็นโปรตีนชิ้นเล็กๆ จากนั้นเอาโปรตีนไปนำเสนอให้กับเซลล์ด่านหลัง (T cell) เมื่อT cell ทำความรู้จักกับวัคซีนก็เกิดการต่อสู้กัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบตามมา ระยะเวลาที่จะเกิดมักเกิดประมาณ 1 สัปดาห์หลังการฉีด


ในข้อมูลก่อนหน้านี้ มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่ ที่เรียกว่า COVID arm (แขนของคนที่ได้รับวัคซีนโควิด) ตีพิมพ์ลงในวารสาร NEJM (12ราย) และ JACI(12ราย) ที่จริงหลังจากนั้นมีรายงานการเกิดปฏิกิริยาเฉพาะที่หลังฉีดวัคซีนโควิดตามมาอีกมากมาย โดยเกิดหลังการฉีดวัคซีนประมาณ 1 สัปดาห์ (4-11วัน) มีคนไข้รายหนึ่งได้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจและพบว่ากลไกน่าจะเกิดจาก Delayed type hypersensitivity และพบว่าคนไข้ทุกรายจากทั้ง รายงาน สามารถฉีดวัคซีนชนิดเดิมเข็มที่สองได้อย่างปลอดภัย โดยส่วนมากเกิดปฏิกิริยาแค่เข็มแรก แต่เข็มที่สองไม่เกิดซ้ำแล้ว ในบางรายก็ยังคงเกิดอาการปวดบวมแดงซ้ำหลังฉีดเข็มสองอีกแต่เป็นไม่รุนแรงมากไปกว่าเข็มแรก (สรุปคือ ส่วนมากไม่เกิดซ้ำ ส่วนน้อยที่เกิดซ้ำก็รุนแรงลดลง บางส่วนที่เกิดซ้ำความรุนแรงไม่มากขึ้น แต่พอๆเดิมเทียบกับเข็มแรก) ***และทุกรายแม้จะเกิดอาการซ้ำ แต่สุดท้ายอาการดังกล่าวก็หายเป็นปลิดทิ้ง ในระยะเวลาประมาณ 1สัปดาห์ (2-11วัน)



เมื่อเราเข้าใจว่ามันคือกลไกที่เกิดขึ้นแบบนี้ เราก็จะไม่ตระหนกตกใจเกินกว่าเหตุ และทำให้เราไม่เกรงกลัววัคซีน เพราะถ้าหากไม่ได้แพ้รุนแรง วัคซีนนั้นมีประโยชน์มหาศาลในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และช่วยต่อสู้กับโรคระบาดได้

#ไปฉีดวัคซีนโควิดกันน้า

#ขอให้ทุกคนปลอดภัย

Reference

1. https://www.aad.org/public/diseases/coronavirus/covid-arm

2. Blumenthal KG, Freeman EE, Saff RR, Robinson LB, Wolfson AR, Foreman RK, et al. Delayed large local reactions to mRNA-1273 vaccine against SARS-CoV-2. N Engl J Med 2021;384:1273-7.

3. Ramos CL, Kelso JM. "COVID Arm": Very delayed large injection site reactions to mRNA COVID-19 vaccines. J Allergy Clin Immunol Pract. 2021 Jun;9(6):2480-2481. doi: 10.1016/j.jaip.2021.03.055. Epub 2021 Apr 20. PMID: 33864927; PMCID: PMC8056968.