วัคซีนโควิดและโอกาสเกิดการแพ้วัคซีน

ช่วงปลายปี 2563 ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิดในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากเป็นความหวังอาจจะทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 สงบหรือลงลงไปบ้าง โดยมีหลายบริษัทจากหลายๆ ประเทศระดมนักวิทยาศาสตร์มาคิดค้นวัคซีน จนปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 มีประชากรได้ฉีดวัคซีนโควิดจากหลายๆ ประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากมีการฉีดวัคซีนไปสักระยะ ช่วงเดือนธันวาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยมีอาการผิดปกติจากวัคซีนของ Pfizer โดสแรก โดยรายงาน 4,393 ราย จาก 1,893,360 ราย คิดเป็น 0.2% และมี 175 รายที่มีอาการสงสัยแพ้วัคซีนรวมถึงอาการแพ้รุนแรงจากวัคซีน (Anaphylaxis) 21 เคส โดยคิดเป็น 11.1 ครั้งต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส โดยอาการแพ้รุนแรงมักเกิดขึ้นภายใน 30 นาที หากเปรียบเทียบกับโอกาสการแพ้วัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนตับอักเสบบี ไข้หวัดใหญ่ ไอพีดี พบว่าวัคซีนดังกล่าวแทบไม่มีโอกาสเกิดภาวะแพ้รุนแรงเลย (มีรายงาน 0 ราย ต่อ 1 ล้านโดส) และถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยการแพ้วัคซีนตัวอื่นในอดีต ที่มีรายงานคือ ประมาณ 1.31 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก อาการส่วนใหญ่ที่พบหลังฉีดวัคซีนต้องควรแยกก่อนว่าเป็นอาการแพ้จริง โดยผู้ป่วยมักมีอาการผื่นขึ้นหลังฉีดภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง และอาจมีอาการระบบอื่นร่วมด้วย หรือ เป็นอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน (มีกลไกไม่ผ่านภูมิคุ้มกัน) ซึ่งพบได้บ่อยกว่า เช่น ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไข้, ผื่นที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดเป็นเวลาหลายชั่วโมง (ซึ่งเป็นกลไกไม่ผ่านภูมิคุ้มกัน) หรือปวดบวมบริเวณที่ฉีด สำหรับข้อมูลของผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด พบว่าผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง มีค่ามัธยฐานของอายุ 40 ปี, เป็นเพศหญิง 90%, อาการเกิดขึ้นภายใน 30 นาที 86% และเคยมีอาการแพ้รุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้อื่น 81% ============================================ ความน่าสนใจคือ จริงๆ แล้ววัคซีนโควิด รวมถึงวัคซีนชนิดอื่น สามารถเกิดการแพ้ได้จากอะไร โอกาสมากน้อยเพียงใด?
ข้อมูลในปัจจุบันพบว่า สาเหตุของการแพ้วัคซีน เกิดจากส่วนประกอบที่ผสมในวัคซีนมากกว่าตัววัคซีนเอง ยกตัวอย่างส่วนประกอบในวัคซีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ เจลาติน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มาจากหมูหรือวัว พบมากที่สุดในวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) มีปริมาณมากที่สุด รองลงมาคือ วัคซีนสุกใส และวัคซีนพิษสุนัขบ้า ส่วนสารประกอบตัวอื่นๆ ที่มีรายงานคือ Ovalbumin ในวัคซีนพิษสุนัขบ้า หรือสารกันบูดในวัคซีนเช่น Thiomersal ในวัคซีนหลายชนิด ก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยอาการแพ้ของส่วนประกอบแต่ละชนิด อาจเกิดอาการแพ้แบบเฉียบพลัน (IgE mediated reaction) น้อยกว่าแบบไม่เฉียบพลัน (nonIgE mediated reaction) . กลับมาดูที่ส่วนประกอบของวัคซีนโควิดของ Pfizer และของ Moderna พบว่า ส่วนประกอบในวัคซีนที่เคยมีรายงานว่าทำให้เกิดการแพ้ คือ PEG หรือ Polyethylene glycol ซึ่ง PEG เป็นส่วนประกอบในการทำละลายของวัคซีนอื่นหลายชนิด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนไอพีดี13 สายพันธุ์, วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และอีกมากมาย มีรายงานจากหลายงานวิจัยว่าสามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ในร่างกายแบบเฉียบพลันได้แต่รายงานส่วนใหญ่มีจำนวนน้อยและเป็น case report นอกจากนั้น หากพิจารณาสูตรโครงสร้างของ PEG พบว่าคล้ายกับ Polysorbate 80% (เป็นตัวทำละลายในวัคซีนโควิดของ AstraZeneca และ Johnson and Johnson) ดังนั้นหากผู้ป่วยมีปฏิกิริยาแพ้ PEG จึงควรหลีกเลี่ยงวัคซีนที่มีส่วนประกอบของ Polysorbate ด้วย ============================================
คำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 1 ควรแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม โดยถามประวัติ 4 ข้อคือ . - ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้รุนแรงจากยาฉีด ทั้งยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ฉีดเข้ากล้าม หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือไม่? - ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนหรือไม่? - ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้รุนแรงจากสารก่อภูมิแพ้อื่น เช่น อาหาร พิษจากแมลง หรือลาเทกซ์หรือไม่? - ผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้ภายใน 4 ชั่วโมงหรือแพ้รุนแรงหลังจากการฉีด PEG หรือ polysorbate โดยตรงหรือจากการผสมในวัคซีนหรือไม่? . ทั้ง 4 คำถามสามารถแบ่งผู้ป่วยตามความเสี่ยงได้ 3 กลุ่ม คือ 1. #กลุ่มความเสี่ยงสูง (ผู้ป่วยที่เคยมีการผิดปกติจากการฉีด PEG หรือ polysorbate จากคำถามข้อ 4) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ พิจารณาทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin prick test) ต่อ PEG ก่อนฉีดวัคซีน ส่วนการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังต่อวัคซีน mRNA ยังไม่แนะนำเพราะวัคซีนมีการระคายเคืองผิวหนังอยู่แล้ว อาจทำให้เกิดผลบวกลวงได้ 2. #กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง (ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยาฉีด วัคซีน หรือแพ้สารก่อภูมิแพ้อื่นๆ จากคำถามข้อ 1,2,3) ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ แต่ต้องสังเกตอาการ 30 นาที 3. #กลุ่มความเสี่ยงต่ำ (ผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติแพ้ตามคำถามทั้ง 4 ข้อ) ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ แต่ต้องสังเกตอาการ 15 นาที . ในทางปฏิบัติหลังจากผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว และได้ติดตามอาการหลังจากฉีดวัคซีน หากผู้ป่วยมีอาการบวมแดงบริเวณฉีดเท่านั้นหรือมีผลข้างเคียงเล็กน้อย การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถฉีดได้โดยสังเกตอาการหลังจากฉีด 15-30 นาที แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยแพ้วัคซีน หรืออาการแพ้รุนแรง ควรส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังกับ PEG ต่อไป
============================================ 💥💥คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการแพ้วัคซีนโควิด💥💥 . 💉 ใครคือผู้มีความเสี่ยงที่จะแพ้วัคซีนโควิดแบบรุนแรง? : ผู้ที่มีความเสี่ยงแพ้วัคซีนโควิดแบบรุนแรงคือผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจาก PEG ซึ่งเป็นส่วนประกอบในวัคซีนโควิดทั้ง Pfizer และ Moderna นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรค Mastocytosis และหืดที่รุนแรงจะมีอาการแพ้รุนแรงได้ง่าย ผู้ป่วย 2 กลุ่มหลังอาจต้องพิจารณาการรับไว้เป็นผู้ป่วยในเพื่อสังเกตอาการช่วงฉีดวัคซีน . 💉วัคซีนของ Pfizer พบผู้ที่แพ้รุนแรงมากน้อยแค่ไหน? : พบผู้ป่วยแพ้รุนแรง 2 ราย จากงานวิจัยวัคซีน Pfizer โดย 1 เคสเป็นผู้ฉีดวัคซีนจริง และ 1 เคสเป็นผู้ฉีดยาหลอก มีการทดสอบแล้วว่าการแพ้รุนแรงของทั้งสองรายไม่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบของวัคซีน . 💉ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยาแบบไม่เฉียบพลัน เช่น ผื่นหลังได้รับยาบางชนิดหลายชั่วโมงและไม่ใช้แพ้รุนแรง จำเป็นต้องเลี่ยงการฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่? : ผู้ป่วยลักษณะนี้ไม่ใช่ข้อห้ามของการฉีดวัคซีนโควิด . 💉ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่น แล้วมีอาการบวมแดงบริเวณที่ฉีดมาก เพิ่มโอกาสแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่? : ความสัมพันธ์ของอาการเฉพาะที่หลังการฉีดวัคซีน ไม่สัมพันธ์กับการแพ้รุนแรง ดังนั้นโอกาสแพ้รุนแรงหลังการฉีดวัคซีนโควิดเท่ากับประชากรทั่วไป . 💉หากฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรง ควรฉีดเข็มกระตุ้นหรือไม่? : เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพราะอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงซ้ำ และการเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีนเข็มที่ 2 ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ============================================ กล่าวโดยสรุป อาการผิดปกติจากการฉีดวัคซีน มักเป็นอาการไม่พึงประสงค์มากกว่าอาการแพ้จริง ซึ่งอาการแพ้มักเกิดจากแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนมากกว่า โดยวัคซีนโควิดทั้ง Pfizer และ Moderna มีส่วนประกอบที่เคยมีคนรายงานเกี่ยวกับการแพ้ คือ PEG อย่างไรก็ดี โอกาสแพ้เกิดขึ้นค่อนข้างน้อย ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการแพ้วัคซีนรุนแรงคือ ผู้ป่วยที่แพ้ PEG หรือ polysorbate หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงแพ้วัคซีน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ข้อมูลและพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม โอกาสแพ้วัคซีนแบบรุนแรงมีน้อยมาก ดังนั้นการตัดสินใจฉีดวัคซีนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินความคุ้มค่าของประสิทธิภาพของวัคซีนเทียบกับผลข้างเคียงหรือข้อเสียของวัคซีนหลังฉีด และผู้ที่ฉีดวัคซีนควรฉีดในสถานพยาบาลที่สามารถสังเกตอาการหลังฉีดและมียา Epinephrine สำหรับรักษาอาการแพ้รุนแรงได้ Immediate Hypersensitivity to Polyethylene Glycols and Polysorbates: More Common Than We Have Recognized Who Is Really at Risk for Anaphylaxis Due to COVID-19 Vaccine? The COVID-19 Pandemic in 2021: Avoiding Overdiagnosis of Anaphylaxis RiskWhile Safely Vaccinating the World mRNA Vaccines to Prevent COVID-19 Disease and Reported Allergic Reactions: Current Evidence and Suggested Approach. common-questions-about-covid-vaccines-and-allergies